วันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2554

อุปสงค์ อุปทาน

อุปสงค์และอุปทาน


จาก Eduzones Elibrary, สารานุกรมฟรี

อุปสงค์และอุปทาน
อุปสงค์(demand) และอุปทาน (supply) เป็นโมเดลทางเศรษฐศาสตร์ ใช้สำหรับอธิบายการเปลี่ยนแปลงของราคาและจำนวนของสินค้าในตลาดที่มีการแข่งขัน ในทางเศรษฐศาสตร์จุลภาค เรื่องดังกล่าวเป็นหนึ่งในเรื่องพื้นฐานของแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ที่พบได้ทั่วไป เนื่องจากมักจะถูกใช้เป็นส่วนประกอบพื้นฐานสำหรับแบบจำลองและทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ชั้นสูง ทฤษฎีอุปสงค์และอุปทานมีความสำคัญต่อการทำงานของระบบตลาดในฐานะที่มันได้อธิบายกลไกการตัดสินใจเกี่ยวกับการจัดสรรทรัพยากรที่เกิดขึ้น แต่สำนักนีโอคลาสสิกได้โต้แย้งว่า ความสัมพันธ์ของอุปสงค์และอุปทานจะเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขปกติที่เรียกว่า ดุลยภาพทั่วไป
อุปสงค์
อุปสงค์ คือ ปริมาณความต้องการสินค้าของผู้บริโภค ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง โดยจะต้องมีทั้งความต้องการที่จะซื้อ และความสามารถในการซื้อ จากกฏอุปสงค์ กล่าวว่า เมื่อปัจจัยอื่นๆคงที่แล้ว อุปสงค์จะมีความสัมพันธ์ในทางลบกับราคา กล่าวคือ เมื่อราคาสินค้าเพิ่มขึ้น ความต้องการสินค้านั้นจะลดลง อุปสงค์สามารถแสดงได้โดยเส้นกราฟและสมการคณิตศาสตร์ โดยเส้นกราฟจะมีความชันลาดลง ปัจจัยที่กำหนดปริมาณอุปสงค์ของผู้บริโภคแต่ละคนได้แก่ ราคาสินค้านั้น รายได้ของผู้บริโภค รสนิยมส่วนบุคคล ราคาของสินค้าทดแทน (substitution goods) และราคาของสินค้าใช้ร่วมกัน (complementary goods) แม้ว่าเส้นกราฟอุปสงค์ของสินค้าส่วนใหญ่ จะมีลักษณะความชันลาดลง ก็ได้มีการยกตัวอย่างถึงสินค้าที่เส้นกราฟดีมานด์มีลักษณะชันขึ้น โดยเรียกสินค้านั้นว่าสินค้ากิฟเฟน (Giffen good) อย่างไรก็ตาม การดำรงอยู่ในสินค้ากิฟเฟนในความเป็นจริงก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่
อุปทาน
อุปทาน คือ ปริมาณสินค้าที่ผู้ผลิตเสนอขาย ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง ปัจจัยหลักที่กำหนดปริมาณอุปทานคือราคาตลาดและต้นทุนการผลิต จากกฏอุปทาน กล่าวว่า โดยทั่วไปปริมาณอุปทานจะมีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกันกับระดับราคา กล่าวคือ เมื่อระดับราคาสินค้าเพิ่มขึ้น ผู้ขายจะยินดีเสนอขายสินค้าในปริมาณที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าโดยทั่วไปเส้นกราฟอุปทานจะมีลักษณะชันขึ้น อย่างไรก็ตาม มีบางกรณีที่เส้นกราฟอุปทานไม่เป็นไปตามลักษณะดังกล่าว ตัวอย่างของข้อยกเว้นนี้ได้แก่ เส้นกราฟอุปทานของแรงงานที่มีลักษณะของการโน้มกลับ กล่าวคือ เมื่ออัตราค่าแรงเพิ่มขึ้น แรงงานก็พร้อมจะทำงานเป็นจำนวนชั่วโมงที่มากขึ้น แต่เมื่ออัตราค่าแรงขึ้นถึงจุดที่สูงมากๆ ปริมาณอุปสงค์ของแรงงานจะลดลง ภาวะดุลยภาพ

เมื่อปริมาณอุปสงค์เท่ากับปริมาณอุปทาน จะเรียกว่าตลาดอยู่ในภาวะดุลยภาพ (equilibium) โดยที่ภาวะนี้การกระจายสินค้าและบริการจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะปริมาณสินค้าที่มีการเสนอขายจะเท่ากับปริมาณความต้องการสินค้านั้น จากกราฟ จุดดุลยภาพคือจุดที่เส้นกราฟอุปสงค์และอุปทานตัดกัน เมื่อใดก็ตามที่สินค้าถูกขายในตลาด ณ ระดับราคาที่ผู้บริโภคมีความต้องการสินค้ามากกว่าจำนวนสินค้าที่สามารถผลิตได้แล้ว ก็จะเกิดการขาดแคลนสินค้าขึ้น เรียกว่าเกิดอุปสงค์ส่วนเกิน (excess demand) ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวก็จะส่งผลให้มีการเพิ่มขึ้นของระดับราคาของสินค้า โดยที่ผู้บริโภคกลุ่มที่มีความพร้อมในการจ่ายชำระ ณ ระดับราคาที่เพิ่มขึ้นนั้นก็จะส่งผลให้ราคาตลาดสูงขึ้น ในทางตรงข้ามระดับราคาจะต่ำลงเมื่อปริมาณสินค้าที่มีให้นั้นมีมากกว่าความต้องการที่เกิดขึ้น หรือเรียกว่าเกิดอุปทานส่วนเกิน (excess supply) กระบวนการดังกล่าวจะดำเนินไปจนกระทั่งตลาดเข้าสู่ภาวะดุลยภาพ
การเปลี่ยนแปลงของเส้นกราฟอุปสงค์และอุปทาน

การเปลี่ยนแปลงของปริมาณอุปสงค์และปริมาณอุปทานมีขึ้นได้ในสองลักษณะ คือ การเปลี่ยนแปลงบนเส้นกราฟ และการเปลี่ยนแปลงของเส้นกราฟ การเปลี่ยนแปลงบนเส้นกราฟ คือการเปลี่ยนแปลงปริมาณอุปสงค์หรืออุปทานไปยังจุดต่างๆบนเส้นกราฟเดิม เกิดขึ้นเมื่อปัจจัยอื่นๆนอกจากราคาและปริมาณนั้นคงที่ หากมีการเปลี่ยนแปลงของเส้นกราฟ หมายความว่าที่ระดับราคาเดิม ปริมาณอุปสงค์หรืออุปทานมีความเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเกิดจากปัจจัยอื่นนอกเหนือจากราคา เช่น การเปลี่ยนแปลงของรสนิยมผู้บริโภค หรือการค้นพบวิธีการผลิตที่เพิ่มประสิทธิภาพทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลง เป็นต้น จากกราฟ จะเห็นว่า เส้นกราฟของอุปสงค์มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นจาก D1 ไปยัง D2 ส่งผลให้เกิดจุดดุลยภาพใหม่ ราคาดุลยภาพเพิ่มขึ้นจาก P1 เป็น P2 และปริมาณดุลยภาพเพิ่มขึ้นจาก Q1 เป็น Q2
ความยืดหยุ่น สิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งในหลักการของอุปสงค์และอุปทานได้แก่ความยืดหยุ่น (elasticity) ในทฤษฏีของอุปสงค์และอุปทาน ความยืดหยุ่นคือการวัดการเปลี่ยนแปลงของปริมาณอุปสงค์หรืออุปทานต่อปัจจัยที่กำหนดอุปสงค์หรืออุปทาน วิธีหนึ่งในการหาความยืดหยุ่นคือการนำร้อยละของความเปลี่ยนแปลงของแต่ละตัวแปรมาหารกัน เรียกว่าความยืดหยุ่นแบบช่วง ซึ่งต่างจากความยืดหยุ่นแบบจุดที่ใช้แคลคูลัสในการหาความเปลี่ยนแปลงที่จุดๆหนึ่ง ความยืดหยุ่นที่นิยมนำมาพิจารณาได้แก่ความเปลี่ยนแปลงของปริมาณอุปสงค์หรืออุปทานต่อความเปลี่ยนแปลงของราคา เรียกว่าความยืดหยุ่นอุปสงค์ต่อราคา (price elasticity of demand) และความยืดหยุ่นอุปทานต่อราคา (price elasticity of supply) โดยความยืดหยุ่นชนิดนี้ ใช้ในการวางแผนของผู้ผลิตในการกำหนดราคา รวมถึงการวางแผนของรัฐบาลในการวางแผนการเก็บภาษี นอกจากนั้นแล้ว ปัจจัยสำคัญอีกหนึ่งตัวคือรายได้ ความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อรายได้ (income elasticity of demand) จะวัดความเปลี่ยนแปลงของปริมาณอุปสงค์ของสินค้าที่มีต่อความเปลี่ยนแปลงของรายได้ของผู้บริโภค ความยืดหยุ่นอีกตัวหนึ่งที่มีการนำมาพิจารณาเรียกว่าความยืดหยุ่นไขว้ของอุปสงค์ (cross elasticity of demand) ซึ่งแสดงความเปลี่ยนแปลงของปริมาณอุปสงค์ที่มีต่อราคาของสินค้าอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งมักจะใช้ในการศึกษา
http://th.wikipedia.org

ป้ายกำกับ:

เศรษฐศาสตร์

เศรษฐศาสตร์ 


วันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2553

กฎอุปสงค์ (Law of Demand) และกฎอุปทาน (Law of Supply

กฎอุปสงค์ (Law of Demand) และกฎอุปทาน (Law of Supply) เป็นหลักการที่อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างราคาและปริมาณความต้องการซื้อหรือขาย โดยกฎอุปสงค์ระบุว่า ปริมาณความต้องการซื้อสินค้า หรือเรียกว่าปริมาณอุปสงค์ (quantity demanded) มีความสัมพันธ์ในทางลบกับราคา เมื่อปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลนั้นคงที่ กล่าวคือ เมื่อราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะต้องการซื้อสินค้านั้นน้อยลง กฎอุปทานระบุว่า ปริมาณสินค้าที่ต้องการขาย หรือปริมาณอุปทาน (quantity supplied) มีความสัมพันธ์ในทางบวกกับราคา เมื่อปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลนั้นคงที่ กล่าวคือเมื่อราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น ผู้ขายมีแนวโน้มที่จะต้องการขายสินค้ามากขึ้น

กฎอุปสงค์และอุปทาน มักนำเสนอออกมาในรูปแบบของแผนภูมิเส้น โดยให้แกนตั้งเป็นราคา และแกนนอนเป็นปริมาณสินค้า เส้นอุปสงค์มักเขียนออกมาเป็นเส้นลาดลง และเส้นอุปทานเป็นเส้นชันขึ้น แม้ว่าโดยทั่วไปเส้นกราฟอุปทานจะมีลักษณะชันขึ้น อย่างไรก็ตาม มีบางกรณีที่เส้นกราฟอุปทานไม่เป็นไปตามลักษณะดังกล่าว ตัวอย่างของข้อยกเว้นนี้ได้แก่ เส้นกราฟอุปทานของแรงงานที่มีลักษณะของการโน้มกลับ กล่าวคือ เมื่ออัตราค่าแรงเพิ่มขึ้น คนงานคนหนึ่งก็พร้อมจะทำงานเป็นจำนวนชั่วโมงที่มากขึ้น แต่เมื่ออัตราค่าแรงขึ้นถึงจุดที่สูงมากๆ คนงานอาจพบกับเลือกทำงานน้อยลงและใช้เวลาว่างมากขึ้น[4] การวกกลับของเส้นกราฟอุปทานยังปรากฏในตลาดอื่นด้วย เช่นในตลาดน้ำมัน ประเทศที่ส่งออกน้ำมันหลายประเทศลดการผลิตน้ำมันหลังจากราคาพุ่งสูงขึ้นในวิกฤตการณ์น้ำมันปีพ.ศ. 2520


โมเดลของอุปสงค์และอุปทาน อธิบายว่า ตลาดมีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ดุลยภาพ (equilibrium) ซึ่งปริมาณอุปสงค์และปริมาณอุปทานจะเท่ากัน เรียกราคาที่ภาวะดุลยภาพว่า ราคาดุลยภาพ และปริมาณสินค้าที่ภาวะนี้ว่า ปริมาณดุลยภาพ หากปริมาณอุปสงค์มากกว่าปริมาณอุปทาน ซึ่งเกิดเมื่อราคาสินค้าต่ำกว่าราคาดุลยภาพของสินค้านั้น จะเกิดการขาดแคลนสินค้า หรือเรียกว่ามีอุปสงค์ส่วนเกิน ในขณะที่เมื่อปริมาณอุปทานมากกว่าปริมาณอุปสงค์ คือเมื่อราคาสินค้าสูงกว่าราคาดุลยภาพ จะเกิดสินค้าล้นตลาด หรืออุปทานส่วนเกิน โดยเมื่อเกิดกรณีเหล่านี้ ผู้ซื้อและผู้ขายในตลาดจะตอบสนองจนกระทั่งตลาดเข้าสู่ดุลยภาพ

ในการแสดงด้วยแผนภูมิ ดุลยภาพคือจุดที่เส้นอุปสงค์และเส้นอุปทานตัดกัน
กฎอุปสงค์และกฎอุปทาน อธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างราคาและปริมาณสินค้า เมื่อปัจจัยอื่นๆ คงที่ หากปัจจัยอื่นเกิดความเปลี่ยนแปลง จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอุปสงค์หรืออุปทาน คือปริมาณอุปสงค์หรือปริมาณอุปทานจะมีการเพิ่มขึ้นหรือลดลงที่ทุกระดับราคา แสดงในแผนภูมิในลักษณะของการเปลี่ยนแปลงเส้นอุปสงค์หรืออุปทาน

ปัจจัยกำหนดอุปสงค์สำคัญที่มักกล่าวถึงได้แก่ รายได้ ราคาของสินค้าอื่นที่เกี่ยวข้อง รสนิยม ความคาดหวัง จำนวนผู้ซื้อ ในขณะที่ปัจจัยที่กำหนดอุปทานมักกล่าวถึง ต้นทุนปัจจัยการผลิต เทคโนโลยี ความคาดหวัง และจำนวนผู้ขาย

ป้ายกำกับ: